การสัมมนา การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยส่วนบริการวิจัยร่วมกับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และศูนย์วิจัยความเป็นเลิศทางธุรกิจและโลจิสติกส์ จัดการสัมมนา ‘การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0’ โดยมีทั้งภาคการบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยภาคบรรยายจัดขึ้นในช่วงเช้าที่ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่วนที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง จะเป็นภาคอบรมเชิงปฏิบัติการในช่วงบ่าย ซึ่งพิธีเปิดมีขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. โดย รศ.ดร.ดรุณี วัฒนศิริเวช รองอธิการบดี กล่าวเปิดงาน ซึ่งการจัดสัมมนานี้เริ่มจากแนวคิดที่จะจัดให้เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กันของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของนักวิชาการหรือนักวัฒนธรรม ต่อมามีผู้สนใจขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น ประกอบกับต้องการเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนาต่างๆ ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเรื่อง Thailand 4.0 จึงทำให้มีกลุ่มผู้ประกอบการหรือชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวต่างๆ ได้เข้าร่วมการสัมมนา เพื่อได้รับฟังแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมกับการพัฒนาประเทศ เพื่อได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเชื่อมโยงต้นทุนทางวัฒนธรรมเข้ากับการท่องเที่ยว วิทยากร นักวิชาการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความร่วมมือต่อกันในการพัฒนาการท่องเยวและวัฒนธรรมต่อไป ทั้งนี้วิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ อาทิ รศ.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธ์ คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ ‘From Cultural to Innovation and Experiences Driven for High Value Tourism Products’, จาก Cultural Content สู่ Culture Industries ได้อย่างไร : ข้อเสนอจากพื้นที่เชียงรายและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน โดย ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยะธรรมลุ่มน้ำโขง, อุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจัดการท่องเที่ยวเชิ.ชาติพันธุ์ :อารยธรรมล้านนา 5 จังหวัด โดย ผศ.ดร.บุษบา สิทธ์การ นักวิจัย ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศทางธุรกิจและโลจิสติกส์ และอาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ โดยเนื้อหาจากการสัมมนาระบุว่าการท่องเที่ยวยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย และเนื้อหาบางส่วนยังได้กล่าวถึงแนวคิดที่เกี่ยวกับการแปลงทุนทางวัฒนธรรม ด้วยนวัตกรรม ผ่านการคิดค้น การพัฒนา และนำไปปฏิบัติจริง ทั้งจากทุนวัฒนธรรมที่สัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นเมืองโบราณเชียงแสนหรือตลาดเชียงแสนก็ตาม และทั้งที่สัมผัสไม่ได้ อย่างการฟ้อนหรือเรื่องเล่าของชุมชนต่างๆ ผสานเข้ากับกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ เช่นการทำให้ของที่ระลึกหรือสินค้าของฝากมีประโยชน์ใช้สอยด้วยจึงจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการซื้อแล้วซื้ออีกได้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวก็เช่นกันที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมาแล้วอยากกลับมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ที่มา ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง